สมเด็จเจ้าแตงโม
สมเด็จเจ้าแตงโม
ตำนานเมืองเพชรบุรี ได้มีการบันทึกเรื่องราวของเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้ตำแหน่งเป็นถึงพระสังฆราชแห่งยุคนั้น และท่านยังได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุที่ทำนุบำรุงศาสนามากที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์นามของท่านคือ “สมเด็จเจ้าแตงโม”
สำหรับวัน, เดือน, ปี เกิดของสมเด็จเจ้าแตงโมนั้นไม่มีระบุ ไว้เป็นหลักฐานที่แน่ชัดนัก แต่ตามตำนานเมืองเพชรบุรีบันทึกไวว่า ท่านนั้นเกิดที่บ้านหนองหว้า ตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และต้องอยู่กับพี่สาว โดยมีหน้าที่ตำข้าวหาฟืน แต่มีวันหนึ่งตำข้าวหก ด้วยความกลัวท่านจึงวิ่งหนีเตลิดออกมา จนมีเพื่อนมากมาย สาเหตุที่ได้ชื่อว่าเด็กแตงโมนั้นวันหนึ่งขณะเล่นน้ำอยู่มีเปลือกแตงโมลอยมาท่านจึงหยิบแล้วดำไปกินใต้น้ำ แต่เพื่อนๆ เห็นเลยโดนล้อ แต่ท่านไม่ได้โมโหแต่อย่างใด ยังคงเล่นกับเพื่อนตามปกติ
จากนั้นคืนหนึ่งสมภารที่มีชื่อเสียงในเมืองเพชรบุรี ได้ฝันว่ามีช้างเผือกมาอยู่ในวัดรุ่งขึ้นอีกวันจึงได้ถามคนในวัดได้ความว่า เด็กแตงโมเข้ามาขอนอน สมภารจึงรับเอาเด็กแตงโมเข้ามาอยู่ในวัดตั้งแต่นั้น และทำให้เด็กแตงโมได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ต่างๆ จนได้บวชเป็นสามเณร วันหนึ่งสามเณรแตงโมต้องทำหน้าที่เทศน์ไตรมาส แทนสมภารที่ไม่สบาย ซึ่งท่านทำได้เป็นอย่างดี จนท่านได้มีโอกาสเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา และได้ร่ำเรียนวิชาจากเกจิดังในยุคนั้น จนพรรษาแกร่งกล้าขึ้น ได้เป็นถึงพระอาจารย์ของพระราชบุตร และอยู่จนพระราชบุตรขึ้นครองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราช โดยรู้จักกันในชื่อ “สมเด็จเจ้าแตงโม”
หลังจากได้สมณศักดิ์ ท่านจึงขอลาพระเจ้าแผ่นดินเพื่อกลับภูมิลำเนา และสร้างวัดถวายให้กับบิดา – มารดา คือวัดหนองหว้า และ วัดดอนบ้านใหม่ ซึ่งวัดทั้ง 2 ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อวัดใหญ่เป็นวัดสุวรรณาราม และมีการหล่อรูปของสมเด็จเจ้าแตงโมประดิษฐานอยู่ในวัดให้ประชาชนได้สักการะกราบไหว้ มาจนถึง ณ ตอนนี้